ลักษณะนาม

 

ลักษณะนาม คือคำนามที่ใช้บอกลักษณะของนามทั่วไป เป็นข้อกำหนด ตามความนิยมของภาษาไทย จะใช้สับสนกันไม่ได้ลักษณะนามมักใช้หลังคำวิเศษณ์บอกจำนวน   เช่น

แมว    3   ตัว

ช้าง   2   เชือก

ขลุ่ย    5   เลา

เลื่อย   6    ปื้น

บางกรณีอาจใช้คำนามคำต้นแทนลักษณะนามได้ เช่น

วัด   2   วัด

โครงการ 14 โครงการ

ประเทศ  7  ประเทศ

โดยเฉพาะคำลักษณนามนั้น เป็นลักษณะเฉพาะของภาษาไทย ในภาษาบาลี-สันสกฤตหรือภาษาอังกฤษไม่ปรากฎว่ามีคำชนิดนี้ การแยกคำลักษณนามออกมาไว้เป็นเอกเทศ จึงเป็นเรื่องสมควรอย่างยิ่ง ดร.วิจินต์  ภานุพงศ์ ได้กำหนดตำแหน่งของคำลักษณนามไว้ดังนี้

1.วางไว้หลังคำบอกจำนวน  เช่น

มีด 2 เล่ม

นก 5 ตัว

2. วางไว้หลังคำนาม เช่น

มีด เล่ม เล็ก

บ้าน หลัง เก่า

บางทีก็วางไว้หลังคำประเภท นี้ นั้น โน้น ไหน   เช่น

เด็ก คนนี้ น่ารักจริง

แมว ตัวนั้น ตายแล้วเมื่อวานนี้

ภรรยา คนโน้น เป็นอย่างไรบ้าง

นายกรัฐมนตรี คนไหน ที่ไม่มีภรรยา

คำลักษณนามนี้ อาจมีรูปเดียวกับคำนามที่ต่างรูปกันก็ได้ เช่น

คน  5  คน

นิ้ว 10 นิ้ว

ม้า   3  ตัว

  ผ้า  3 เมตร

      คำบางคำมีหลายความหมาย เช่นคำว่า กา อาจหมายถึงสัตว์ปีกชนิดหนึ่งที่บินได้ หรืออาจหมายถึงภาชนะที่ใช้ต้มน้ำก็ได้  คำลักษณนามจะช่วยให้ความหมายของแต่ละคำชัดเจนขึ้น   เช่น

กา  3  ตัว

กา  3  ใบ

      พระยาปกิตศิลปสาร  คงตระหนักถึงความสำคัญของคำลักษณนามเป็นอย่างดี จึงได้รวบรวมคำลักษณนามไว้เป็นจำนวนมาก  โดยให้คำนิยามไว้ว่า ลักษณนามก็คือสามานยนาม หรือสมุหนามนั่นเอง  แต่เอามาใช้บอกลักษณะของนามที่อยู่ข้างหน้าคล้าคำวิเศษณ์

 

ลักษณะของลักษณะนาม

      ลักษณนามได้แก่นามทั่วไป (สามานยนาม) หรือนามบอกหมวดหมู่ (สมุหนาม) แต่นำมาใช้เพื่อบอกลักษณะของนามข้างหน้า คล้ายกับคำขาย (วิเศษณ์) จำแนกออกได้   6   ชนิด   คือ

1.  ลักษณนามบอกชนิด

2.  ลักษณนามบอกหมวดหมู่

3.  ลักษณนามบอกสัณฐาน

4.  ลักษณนามบอกจำนวนและมาตรา

5.  ลักษณนามบอกอาการ

6.  ลักษณนามซ้ำชื่อ

 

1. ลักษณนามบอกชนิด

ลักษณนาม                        สำหรับใช้

พระองค์         พระพุทธเจ้า  พระราชา  เทวดาผู้ใหญ่    เจ้านายชั้นสูง

องค์             เจ้านาย     เทวดา   เครื่องใช้สอย หรืออวัยวะของ                                    พระพุทธเจ้าหรือของพระราชา  เช่น  พระทนต์ 2 องค์

รูป                             พระภิกษุ สามเณร นักบวช นักพรต

ตน                  ยักษ์ ปิศาจ  ภูตผี  ฤาษี  วิทยาธร

ตัว                   สัตว์เดรฉานทุกชนิด  โต๊ะ เก้าอี้  ม้านั่ง  ตะปู        ตุ๊กตา

ใบ                   ภาชนะ  ผลไม้  ใบไม้

เรื่อง                ละคร  ภาพยนตร์  สารคดี  นวนิยาย  เรื่องสั้น

สิ่ง อัน              สิ่งของหรือกิจการที่เป็นสามัญทั่วไป

เลา                    ปี่  ขลุ่ย

เชือก                ช้างป่า ช้างบ้าน

ช้าง                  ช้างหลวง

เรือน               นาฬิกา

เล่ม                  หนังสือ  เกวียน  เทียน  มีด  สิ่ว  เข็ม  กรรไกร  หอก

   แท่ง                 แท่งแม่เหล็ก

คน                  มนุษย์ทั่วไป

กิ่ง                   งาช้าง กิ่งไม้

ขนาน              ยาแก้โรคต่าง ๆ

ขวด                 ขวดต่าง ๆ ขวดหมึก ขวดเหล้า

ขอน                ใช้กับจำนวนเอกพจน์ หรือข้างหนึ่งของของที่เป็นคู่ เช่น กำไล 1 ขอน สังข์ 1 ขอน

คัมภีร์              หนังสือคัมภีร์

ฉบับ                หนังสือที่เป็นแผ่น ๆ หนังสือพิมพ์ จดหมาย

ฉาก                 การแสดงต่าง ๆ ละคร

ชุด                   การเล่นต่าง ๆ เช่น ละคร

ดอก                ดอกไม้ ธูป หัวลูกธนู

ต้น                  ซุง เสา ต้นไม้

ไตร                 ผ้าไตร

นัด                   กระสุนปืน ยิงปืน จุดพลุ วาระหนึ่ง ๆ ที่นัดพบ

นาย                  ข้าราชการฝ่ายหน้า ทหาร ตำรวจ

เมล็ด               เมล็ดพืช

 

2. ลักษณนามบอกหมวดหมู่

คำลักษณนาม                                       สำหรับใช้

กอง                 ทหาร  อุจจาระ อิฐ หิน ดิน ทราย ฯลฯ

พวก                เหล่า ทหาร คน สัตว์

หมวด              คน  สัตว์ สิ่งของที่ยกมารวมกันไว้

หมู่                   คน สัตว์ สิ่งของที่รวมกันเป็นหมู่ ๆ

คณะ                 ลิเก  ลำตัด  หมอลำ  ดนตรี  คนที่อยู่ในสำนักหนึ่ง    หรือ ในหน้าที่ทำการอย่างหนึ่ง  หรือในปกครองอันเดียวกัน

ฝูง                             สัตว์พวกเดียวกันที่ไปด้วยกันเป็นพวก ๆ

นิกาย               นักบวชศาสนาเดียวกันที่แยกกันออกเป็นพวก ๆ

สำรับ ชุด         คนหรือสิ่งของที่มีครบตามอัตร

โรง                   ผู้เล่นมหรสพที่มีโรงเล่น เช่น ละคร โขน หนัง

วง                    คนชุดหนึ่งที่ล้อมวงกัน เช่น เล่นตะกร้อ เล่นดนตรี เล่นเพลง เล่นสักวา ฯลฯ

ตับ                   ของที่ทำให้ติดเรียงกันเป็นพืด เช่นจาก พลุ ประทัด ลูกปืนกล ปลาย่าง ฯลฯ

กัณฑ์                การเทศน์ คำเทศน์

กลัก                ไม้ขีดไฟ

กลุ่ม                ด้าย ป่าน

กอ                   ไผ่ พืชที่ขึ้นเป็นกอ

ขนัด                 สวน

โขลง                ช้างป่าที่อยู่รวมกันหลายตัว

คู่                      ของที่มีชุดละ 2 สิ่งที่ใช้ร่วมกันหรือจำพวก       เดียวกัน           เช่นช้อนส้อม ตะเกียบ กำไล รองเท้า ถุงเท้า   แจกัน เชิงเทียน

เครือ                เครือกล้วย

จั่น                    จั่นหมาก จั่นมะพร้าว

ช่อ                    ช่อดอกไม้ ช่อผลไม้

แถว                  ทหาร คนหรือสัตว์สิ่งของที่จัดไว้เป็นแถว

ทะลาย             ทะลายหมาย ทะลายมะพร้าว

แพ                   สิ่งที่ติดกันเป็นแพ เช่น แพซุง ธูปแพ เทียนแพ  ข้าวเม่าทอดติดกันเป็นแพ

โรง                  ผู้เล่นมหรสพที่มีโรงเล่น โขน ละคร หนัง ฯลฯ

 

3.  ลักษณนามที่บอกสัณฐาน

ลักษณนาม                           สำหรับใช้

วง                    ของที่รูปเป็นวง  เช่น แหวน กำไล

หลัง                ของที่รูปเป็นหลังคา เช่น เรือน ตึก กูบ ประทุน เก๋ง บุษบก มุ้ง ฯลฯ

แผ่น                ของที่มีรูปแบน ๆ เช่น กระดาษ กระดาน กระเบื้อง อิฐ ฯลฯ

ผืน                  ของที่มีรูปแบนบางกว้างใหญ่ เช่น ผ้า เสื่อ พรม กระแชง  หนังสัตว์ที่ใช้ปู

แถบ                ของที่แบนบางแคบแต่ยาว เช่น ผ้าแคบ ๆ แต่ยาว

บาน                ของเป็นแผ่นที่มีกรอบ เช่น ประตู หน้าต่าง กรอบรูป กระจกเงา

ลูก                   ของที่มีรูปกลม ๆ เช่น ลูกไม้ ลูกหิน

แท่ง                 ของทึบหนามีรูปยาว ๆ เช่น ก้อนดิน หิน อิฐแตก

คัน                  ของที่มีส่วนสำหรับถือและลาก รูปยาว ๆ เช่น ร่ม ฉัตร     ธนู กระสุน หน้าไม้ ช้อน ซ่อม ซอ เบ็ด แร้ว ไถ รถ

ต้น                  ของที่เป็นต้น เช่น ต้นไม้ เสา ซุง

ลำ                    ของกลมยาวมีปล้องคั่น ไม้ไผ่ อ้อย เรือ

ดวง                 ของที่มีรอยกลม ๆ เช่น รอยด่าง ตราต่าง ๆ ของที่มีแสง เช่น ตะวัน เดือน ดาว ไฟ จิต  วิญญาณ

กระบอก         ของกลมยาวแต่กลวง เช่น ปล้องไม้ไผ่  ข้าวหลาม  พลุ   ปืน

เส้น                 ของที่เป็นเส้นเล็กยาวเช่น เชือก ลวด ด้าย

สาย                 ของที่เป็นทางยาว เช่น ถนน ทาง ลำน้ำ

ปาก                 เครื่องถักดักสัตว์มีรูปเป็นปากกว้าง เช่น แห อวน สวิง                โพงพาง

ปื้น                  ของที่แบนกว้างเป็นพืดยาว เช่น เลื่อย รอยไม้เรียว ตอกที่กว้าง

ซี่                     ของเล็กยาวเรียงกันเป็นแถว เช่น ซี่กรง ซี่ฟัน

คู่                     ของที่มีชุดละ 2 สิ่ง เช่น รองเท้า ถุงเท้า แจกัน เชิงเทียน

โหล                ของที่รวมกัน 12 สิ่ง  (โดยมากมาจากต่างประเทศ)

กุลี                   ผ้าห่อหนึ่งที่รวมกัน 20 ผืน

 

4.ลักษณนามบอกจำนวนและมาตรา

ลักษณนาม                                  สำหรับใช้

     คู่ของที่มีชุดละ 2 สิ่ง เช่น รองเท้า ถุงเท้า แจกัน เชิงเทียน ช้อนส้อม  ชื่อมาตราต่าง ๆ เช่น  โยชน์  ชั่ง  เกวียน  ของที่ใช้วัด  ตวง ชั่ง และ เวลา เช่น

   ทาง   5   โยชน์

     เงิน   5   ชั่ง

                                     ข้าว  4  เกวียน

                                      ผ้า   15  หลา

 ของที่ตวงด้วยภาชนะนั้น ๆ เช่น  

น้ำ 5 ตุ่ม

เหล้า 1 ขวด

 

                 5.  ลักษณนามบอกอาการ                                                           ลักษณนาม                          สำหรับใช้

จีบ                   ของที่จีบ เช่น พลู 5 จีบ

มวน                 ของที่มวน เช่น บุหรี่ 4 มวน

มัด                   ของที่มัด เช่น ฟืน

พับ                   ของที่พับไว้ เช่นผ้าต่าง ๆ

ม้วน                 ของที่ม้วน เช่น ยาสูบ กระดาษ ยาจืด

กำ ฟ่อน           ของที่ทำเป็นกำ  ฟ่อน  เช่น ข้าว หญ้า ผัก

กลุ่ม                 ของที่ทำเป็นกลุ่ม เช่น ด้าย ป่าน

 

6. ลักษณนามซ้ำชื่อ

            สามานยนามบางคำซึ่งไม่ต้องการบอกลักษณะตามที่กล่าวแล้ว เมื่อจะต้องใช้ในฐานที่ตามหลังคำวิเศษณ์เช่นนั้น ต้องเอาคำสามานยนามเดิมนั้นเอง มาใช้เป็นลักษณะนามประกอบคำวิเศษณ์เหล่านั้น   เช่น

ประเทศ 2 ประเทศ

เมือง 5 เมือง

มือ   4   มือ

คน 45 คน

-----

           เรามาพิจารณาดูหน้าที่ของกลุ่มโครงสร้างจะจำแนกถ้อยคำออกไปโดยวิธียึดเอาตำแหน่งของคำที่มีหน้าที่ต่าง ๆ กัน และการทำหน้าที่ร่วมกันของคำ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วากยสัมพันธ์เป็นหลักเกณฑ์

                      สำหรับลักษณนามทั้งหมดนี้นอกจากจะทำให้เราทำให้เราสื่อสารได้สะดวก และทำให้สื่อความหมายถึงกันได้เป็นอย่างดีแล้วก็ยังเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจในการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ เป็นต้นอีกด้วย

 

 

**************************************